ค่าเสียหายเชิงลงโทษคืออะไร ?

ค่าเสียหายเชิงลงโทษคืออะไร ?

           วันนี้สำนักงานกฎหมายวงศกรณ์มีความรู้ดี ๆ มาให้ทุกท่านได้อ่านเพิ่มพูนความรู้กันเกี่ยวกับเรื่อง ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ซึ่งหลายท่านอาจมีความสงสัยเกี่ยวกับค่าเสียหายเชิงลงโทษว่าคืออะไรกัน บางท่านเคยได้ยินก็ไม่รู้ว่าคืออะไร หรือบางท่านอาจยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ วันนี้เราจึงได้รวบรวมและสรุปเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ มาฝากทุกท่านกัน

           ค่าเสียหายเชิงลงโทษ หรือที่เรียกว่า ค่าเสียหายเพื่อเป็นเยี่ยงอย่าง คือ ค่าเสียหายที่ถูกกำหนดขึ้นเพิ่มเติมจากค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับ โดยค่าเสียหายเชิงลงโทษนี้มีจุดมุ่งหมายก็เพื่อลงโทษผู้กระทำละเมิดให้เกิดความเข็ดหลาบไม่กระทำละเมิดอีก อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นกล้าที่จะกระทำละเมิดในลักษณะเช่นเดียวกันในอนาคตอีกด้วย ค่าเสียหายเชิงลงโทษนี้ จึงมีขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิและป้องปรามการกระทำละเมิดไม่ให้เกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า และค่าเสียหายเชิงลงโทษ จะมีการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษ โดยจะมุ่งพิจารณาถึงความชั่วร้ายของพฤติกรรมที่ผู้ทำละเมิดได้ทำลงไปมากกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

รู้หรือไม่ ? ค่าเสียหายเชิงลงโทษมีใช้ในหลายประเทศ

รู้หรือไม่ ? ค่าเสียหายเชิงลงโทษมีใช้ในหลายประเทศ

           ค่าเสียหายเชิงลงโทษนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ล้วนเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นที่แรกโดยประเทศอังกฤษ จนต่อมาค่าเสียหายเชิงลงโทษนี้ก็ได้รับการยอมรับและได้ถูกใช้ในประเทศที่มีการใช้ระบบประมวลกฎหมายนั่นเอง

หลักค่าเสียหายเชิงลงโทษในประเทศไทย

           ในประเทศไทยได้มีการนำเอาหลักค่าเสียหายเชิงลงโทษมาใช้ โดยในช่วงแรกที่ได้นำค่าเสียหายเชิงลงโทษนี้เข้ามานั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร เนื่องจากประเทศไทยนั้นมีการใช้ระบบประมวลกฎหมาย ที่ยอมรับหลักการที่ว่า ผู้กระทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายไม่เกินจำนวนความเสียหายที่แท้จริง ตามที่ผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับความเสียหายเท่านั้น แม้ว่าตามกฎหมายไทยจะมองว่าการลงโทษผู้กระทำละเมิดเช่นนี้จะเป็นการสร้างความยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกกระทำละเมิดได้ แต่ก็มีในบางกรณีที่มีพฤติการณ์ของการกระทำละเมิดมีความร้ายแรง หรือในบุคคลบางคนบางกรณีที่ผู้กระทำละเมิดจงใจที่จะกระทำละเมิดอย่างไม่มีความเกรงกลัวในกฎหมายไทย อีกทั้งยังไม่ใยดีต่อความเสียหายที่ผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับ นอกจากนี้ในผู้กระทำละเมิดบางคนยังไม่หลาบจำต่อความเสียหายที่ตนเองกระทำ เนื่องจากค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดต่อผู้ถูกกระทำนั้นเสียน้อยกว่าประโยชน์ที่ตนเองได้รับ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงได้มีการนำหลักค่าเสียหายเชิงลงโทษมาปรับใช้กับระบบกฎหมายไทย เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญและสิทธิของผู้ที่ถูกกระทำละเมิดและหรือประชาชน และหลักค่าเสียหายเชิงลงโทษนี้ยังได้มีการนำมาปรับใช้และได้มีการนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายไทยหลายฉบับด้วยกัน อาทิ พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 , พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 , พระราชบัญญัติความผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 , พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 , พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เป็นต้น

ลักษณะสำคัญของค่าเสียหายเชิงลงโทษ  

           ค่าเสียหายเชิงลงโทษ มีลักษณะสำคัญด้วยกัน 4 ประการ ดังนี้

  1. ค่าเสียหายเชิงลงโทษ คือ ค่าเสียหายที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นบทลงโทษแก่ผู้กระทำละเมิด เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำละเมิดกล้าที่จะกระทำละเมิดซ้ำอีก อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นกล้ากระทำการละเมิดกับบุคคลอื่นเช่นเดียวกันในอนาคตอีกด้วย
  2. ค่าเสียหายเชิงลงโทษ สำหรับผู้ถูกกระทำละเมิดแล้วนั้น ผู้ถูกกระทำละเมิดไม่ต้องพิสูจน์ในส่วนจำนวนความเสียหาย เนื่องจากเป็นดุลพินิจของศาลที่กำหนดให้แล้วตามความเหมาะสม โดยศาลได้คำนึงถึงความร้ายแรงของการที่ผู้ถูกกระทำละเมิดถูกละเมิดแล้ว อีกทั้งยังได้มีการคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำเมิดด้วย
  3. ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ความเสียหายที่ผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับจากผู้กระทำละเมิดนั้น เป็นค่าเสียหายที่กำหนดเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าเสียหายที่แท้จริง โดยค่าเสียหายเชิงลงโทษนี้ศาลอาจกำหนดเพีนงอย่างเดียวก็ได้แม้ว่าจะไม่ปรากฏค่าเสียหายที่แท้จริง
  4. ค่าเสียหายเชิงลงโทษ นี้ ศาลจะมีการกำหนดให้ในเฉพาะกรณีที่มีพฤติการณ์การกระทำละเมิดร้ายแรงรุนแรง ลักษณะการกระทำเช่นเดียวกับคดีอาญา เช่น การทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ การใช้กลฉ้อฉล ฯลฯ ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการกระทบกระเทือนจิตใจแก่ผู้ถูกกระทำละเมิด รวมไปถึงการทำให้อับอาย การถูกดูหมิ่นด้วยเช่นกัน

ข้อดีของค่าเสียหายเชิงลงโทษ

การนำหลักค่าเสียหายเชิงลงโทษมาปรับใช้กับระบบกฎหมายไทยนั้นมีข้อดี คือ การดำเนินคดีทางแพ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากค่าเสียหายเชิงลงโทษได้ทำให้ผู้กระทำละเมิดได้รับบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น ผู้กระทำละเมิดมีความเกรงใจกลัวในกฎหมายไทยมากขึ้น และการที่มีบทลงโทษคือค่าเสียหายเชิงลงโทษนี้ก็ได้ทำให้ผู้อื่นไม่กล้าที่จะกระทำละเมิดต่อผู้อื่นในอนาคตเนื่องด้วยเกรงกลัวต่อบทลงโทษนี้ นอกจากนี้การที่ประเทศไทยมีหลักค่าเสียหายเชิงลงโทษยังเป็นการทำให้การทำงานของภาครัฐอย่างเช่นนโยบายของรัฐมีสภาพบังคับ ทำให้สร้างความยุติธรรมเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้ถูกละเมิดได้

ข้อเสียของค่าเสียหายเชิงลงโทษ

           สำหรับการที่ประเทศไทยได้นำเอาหลักของค่าเสียหายเชิงลงโทษมาปรับใช้ในกฎหมายไทยซึ่งก็ล้วนสร้างข้อดีและมีประโยชน์ต่อกฎหมายไทยเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีบางจุดที่หลักค่าเสียหายเชิงลงโทษยังมีข้อเสียอยู่ คือ การนำเอาหลักค่าเสียหายเชิงลงโทษมาปรับใช้อาจก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนในการลงโทษผู้กระทำละเมิดได้ในกรณีที่การละเมิดนั้นมีการเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาด้วย อีกทั้งยังอาจเป็นช่องทางทำให้ผู้ถูกกระทำละเมิดรวมไปถึงทนายความอาจมีการแสวงหาผลประโยชน์จากคดีโดยทุจริตก็เป็นได้ รวมไปถึงการก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจได้ด้วยเช่นกันในกรณีที่ผู้กระทำละเมิดเป็นประเภทนิติบุคคล อย่างไรก็ตามการนำหลักค่าเสียหายเชิงลงโทษมาปรับใช้กับระบบกฎหมายไทยนั้น จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำที่รุนแรง รวมไปถึงความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นต่อผู้ถูกกระทำละเมิดด้วย เพื่อให้หลักของค่าเสียหายเชิงลงโทษเกิดประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในทางปฏิบัติอย่างมากที่สุดต่อระบบกฎหมายไทย

           อ่านมาถึงตรงนี้สำนักงานกฎหมายวงศกรณ์ ของเราก็มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่เข้ามาติดตามและเสพความรู้จากเว็บไซต์ของเราจะได้รับประโยชน์มากขึ้นและหวังว่าบทความของเราจะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องของ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ มากขึ้นในอีกระดับแก่ผู้ที่ได้เข้ามาอ่านบทความนี้ เพราะความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เรียนรู้ไว้ก็ไม่เสียหายอะไรอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนความรู้อีกด้วย ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายก็เช่นเดียวกัน เพราะ “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” หากท่านใดต้องการปรึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายใดสามารถติดต่อสำนักงานกฎหมายวงศกรณ์