คำว่า “บาดเจ็บสาหัส” ในกฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่งเป็นอย่างไร บริษัทประกันภัยจ่ายค่าเสียหายส่วนไหนให้บ้าง

1 บาดเจ็บสาหัส ในกฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่ง

ถ้าหากกล่าวถึงในกรณี “บาดเจ็บสาหัส” แล้ว ในทางกฎหมายนั้นมีข้อกฎหมายรองรับทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง เพราะในทางอาญานั้นเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิด ส่วนในทางแพ่งนั้นเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดนั่นเอง ดังนั้นเราจะมากล่าวถึงการบาดเจ็บสาหัสในทางกฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่งกันค่ะ

2 บาดเจ็บสาหัส ในกฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่ง

บาดเจ็บสาหัสในกฎหมายอาญา

หากกล่าวกันในทางอาญานั้นมีไว้เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษฐานทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ อัตราของโทษขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุนั้น ๆ โดยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560) โดยตามแนวฎีกา “บาดเจ็บสาหัส” นั้นจะต้องรักษาตัวไม่น้อยกว่า 20 วัน เพราะถือว่าเป็นอันตรายสาหัส ตัวอย่างเช่น กระโหลกศีรษะร้าว ปวดศีรษะในระยะเวลา 1 เดือน นั่งขายของปกติไม่ได้เกิน 20 วันเป็นทุขเวทนา ถือว่าเป็นการเจ็บป่วยด้วยอาการทุขเวทนาเกินกว่า 20 วันเป็นอันตรายสาหัส ซึ่งความผิดฐานทำให้บาดเจ็บนั้นจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบภายนอก และ องค์ประกอบภายใน

ซึ่งองค์ประกอบภายนอกมีดังนี้ 1.กระทำการโดยประการใด ๆ 2. เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส 

ส่วนองค์ประกอบภายในคือ การกระทำความผิดตามมาตรานี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 แต่ต่างกันตรงที่ผลของกระทำ ในมาตรานี้เอาผิดถ้ากระทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญาได้แก่ ตาบอด หูหนวก เสียอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น 

ฎีกา 491/2507 รถยนต์โดยสารสองคันแล่นตามหลังกันมา คันหนึ่งขอทางจะแซงขึ้นหน้า อีกคันหนึ่งไม่ยอมกลับเร่งความเร็วเพื่อแกล้งรถยนต์คันที่ขอทาง รถยนต์ทั้งสองคันจึงได้แล่นแข่งกันมาด้วยความเร็วสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดในถนนซึ่งแคบและเป็นทางโค้ง เป็นการเสี่ยงอันตราย รถยนต์คันขอทางเฉี่ยวกับรถบรรทุกคันหนึ่ง ซึ่งจอดแอบข้างทางและเซไปปะทะกับรถยนต์คันที่แข่งกันมานั้นตกถนนพลิกคว่ำ คนโดยสารได้รับอันตรายสาหัส ต้องถือว่าคนขับรถยนต์โดยสารของทั้งสองคันนั้นกระทำโดยประมาท

การขับรถโดยประมาทมีโทษตามกฎหมาย ดังนี้คือ

1. ชนกันธรรมดา ไม่มีคนบาดเจ็บหรือคนตาย ผิดฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400 บาท ถึง 1,000 บาท ตามพระราชบัญญติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 (4) และมาตรา 157

2. ชนกันบาดเจ็บนิดหน่อย ผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390

3. ชนกันจนคู่กรณีบาดเจ็บสาหัส พิการ สูญเสียอวัยวะ หรือต้องรักษาตัวเกิน 20 วัน ผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300

4. ชนกันจนคู่กรณีถึงแก่ความตาย ผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่น  ถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

3 บาดเจ็บสาหัส ในกฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่ง

บาดเจ็บสาหัสในกฎหมายแพ่ง

นอกจากโทษทางอาญาแล้ว ผู้กระทำความผิดยังต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บทางแพ่งด้วย เช่นความเสียหายต่อร่างกาย ต่อบุคคลอื่น ตลอดจนทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งตามมาตรา 240 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” ทั้งนี้ การจะเข้าข่าย “ประมาท” ต้องมิใช่ “เจตนา” ขับรถชนคู่กรณี (ข้อมูลจาก: พระราชบัญญติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 (4) และมาตรา 157 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มาตรา 300 และมาตรา 390)

4 บาดเจ็บสาหัส ในกฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่ง

ค่าเสียหายที่สามารถเบิกได้จาก พ.ร.บ. รถยนต์ (ภาคบังคับ) 

พ.ร.บ. รถยนต์นับเป็นประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำเอาไว้ ดังนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนและต้องเบิกค่าชดเชย สามารถเบิกค่าชดเชยจาก พ.ร.บ. รถยนต์ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งค่าชดเชยของ พ.ร.บ. รถยนต์นั้นจะคุ้มครองเฉพาะคน ก็คือในกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเท่านั้น สามารถเบิกค่าชดเชยได้ดังนี้ 

สำหรับค่าเสียหายเบื้องต้น จะได้รับทันทีโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด ดังนี้ 

– ค่ารักษาพยาบาล พ.ร.บ. จะจ่ายให้ตามจริง โดยจ่ายให้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท หากต่อมาพิการหรือทุพพลภาพ จะจ่ายเพิ่มเติมโดยรวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน – ในกรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวรทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ พ.ร.บ. จะจ่ายให้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคน 

– ในกรณีที่เกิดการเสียชีวิต หากเสียชีวิตทันทีหลังจากเกิดอุบัติเหตุ พ.ร.บ. จะจ่ายค่าทำศพเป็นจำนวน 35,000 บาทต่อคน 

– แต่หากเสียชีวิตภายหลังจะจ่ายให้แบบเหมารวมกับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน 

สำหรับค่าเสียหายส่วนเกินที่สามารถเบิกได้จาก พ.ร.บ. รถยนต์ หลังจากพิสูจน์ความผิดแล้ว โดยบริษัทประกันของฝ่ายที่กระทำผิดจะชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัยหรือทายาท ดังนี้ 

– ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บ จะมีการจ่ายเงินชดเชยรวมค่าสินไหมทดแทนให้ไม่เกิน 80,000 บาท 

– ในกรณีสูญเสียอวัยวะ ได้แก่ หูหนวก เป็นใบ้ เสียความสามารถในการพูด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ มือ แขน ขา เท้า ตา หนึ่งอย่างหรือหนึ่งข้าง จะจ่ายชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท 

– ในกรณีสูญเสียอวัยวะ ได้แก่ มือ แขน เท้า ขา ตา ตั้งแต่สองอย่างหรือสองข้างขึ้นไป หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะมีการจ่ายชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท 

– ในกรณีทุพพลภาพถาวร จะมีการจ่ายเงินชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาลสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท กรณีเสียชีวิต จะมีการจ่ายเงินชดเชยรวมกับค่ารักษาพยาบาล (ในกรณีเสียชีวิตภายหลัง) สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท 

– นอกจากนี้จะมีการจ่ายเงินชดเชยเมื่อต้องนอนโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) โดยจ่ายชดเชยให้วันละ 200 บาท รวมไม่เกิน 20 วัน 

ค่าเสียหายที่สามารถเบิกได้จากประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) 

หากผู้บาดเจ็บ หรือคู่กรณีได้ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติมเอาไว้ในส่วนนี้ ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจไม่ว่าจะเป็น ประกันภัยชั้น 1, ชั้น 2, ชั้น 3 หรือประกันภัยประเภท 1, ประเภท 2, ประเภท 3 นั้น ในกรมธรรม์ประกันภัยของแต่ละบริษัทจะให้ความคุ้มครองในรายละเอียดหลักเหมือนกัน แต่ในเรื่องของจำนวนวงเงินอาจต่างกัน ซึ่งค่าชดเชยที่สามารถเบิกได้ในกรณีรถชนนั้น มีดังนี้ 

– ค่ารักษาพยาบาล ในส่วนที่เกินจากวงเงินของ พ.ร.บ. รถยนต์ จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ 

– ค่าทนทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บ จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ 

– ค่าชดเชยจากสินทรัพย์ที่เสียหรือสูญหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ 

– ค่าชดเชยความเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นขณะรักษาตัว เช่น ค่าขาดโอกาสในการเดินทางหรือการทำงาน ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าชดเชยรายได้ ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม จะสามารถมาเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ 

สำหรับประกันประเภท 1 หรือประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 นั้น นอกจากค่าชดเชยข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังสามารถเบิกค่าชดเชยเนื่องจากอุบัติเหตุรถชนได้เพิ่มเติม ดังนี้ 

– ค่าประกันตัวผู้ขับขี่ในกรณีที่ถูกควบคุมตัวจากความผิด 

– ค่าซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันที่เอาประกัน ไม่ว่าจะมีคู่กรณีหรือไม่ก็ตาม 

ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมและวงเงินคุ้มครองนั้น สามารถเช็กได้กับกรมธรรม์ประกันภัยที่คุณทำเอาไว้ว่าได้รับความคุ้มครองในวงเงินเท่าไร และจะได้ค่าชดเชยแต่ละส่วนเท่าไรถ้าหากเกิดอุบัติเหตุรถชน ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับจำนวนเบี้ยประกันที่คุณจ่ายไปว่าได้รับวงเงินที่เท่าไร

จะเห็นได้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยนั้นมีเนื้อหาที่ค่อนข้างละเอียด ซึ่งคนทั่วไปน้อยมากที่จะสามารถเข้าใจเนื้อหาของกรมธรรม์ได้อย่างเข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อเกิดปัญหาการเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมธรรม์จึงควรอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจในเนื้อหาของสัญญากรมธรรม์ หรือข้อกฎหมายอย่างทนายความดีกว่า นอกจากทนายความจะอำนวยความสะดวกในด้านการดำเนินการในทุกขั้นตอนแล้ว ยังช่วยเรียกร้องค่าเสียหายที่เราควรจะได้รับอย่างเหมาะสมให้อีกด้วย ปรึกษาทนาย