คดียักยอกทรัพย์เป็นอย่างไร? แบบไหนถึงเรียกว่าเข้าข่าย “ยักยอกทรัพย์”

คดียักยอกทรัพย์ copy

คดียักยอกทรัพย์ คือคดีความที่โจทก์ทำการฟ้องจำเลยในฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 หลักว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แต่หากทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำผิด โดยผู้อื่นส่งมอบให้ หรือเป็นทรัพย์สินหายและผู้กระทำผิดเก็บได้ ผู้กระทำจะต้องระวางโทษเพียงกึ่งหนึ่ง

คดียักยอกทรัพย์1 copy

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1. ครอบครอง

การครอบครองนี้จะต้องเป็นการครอบครองอย่างแท้จริง โดยที่เจ้าของสละการครอบครองหรือส่งมอบการครอบครองทรัพย์นั้น เช่น การเช่าบ้านหากผู้เช่าบ้านเช่าพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ ผู้ให้เช่าบอกให้ผู้เช่าช่วยดูแลเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องเช่าด้วย เท่ากับเป็นการมอบหมายให้ผู้เช่าครอบครองเฟอร์นิเจอร์ในบ้านแล้ว หากผู้เช่าเอาเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านไปถือว่าเป็นการยักยอกทรัพย์

แต่ถ้าหากเป็นการแค่ยึดถือเอาไว้ชั่วคราว และเจ้าของไม่ได้ทำการสละการครอบครองทรัพย์นั้น ก็จะไม่ถือว่ายักยอกทรัพย์ แต่จะเข้าข่ายเป็นการลักทรัพย์แทน เช่น การฝากของเอาไว้ชั่วคราวอย่างกระเป๋าเงิน เป็นต้น

2. ทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

เรื่องเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น เป็นไปตามกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในทางแพ่ง เช่น ใครซื้อมาคนนั้นก็เป็นเจ้าของ หรือหากเป็นทรัพย์มีทะเบียน ก็ให้ดูว่าทะเบียนของทรัพย์นั้นมีชื่อใครคนนั้นก็เป็นเจ้าของ

3. เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

คือการที่เราแสดงตนเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นในลักษณะที่ตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของเดิม อาจจะโดยการแปลสภาพทรัพย์นั้น ขายทรัพย์นั้นให้คนอื่น หรือเอาไปซ่อนเพื่อจะเก็บไว้ใช้เอง หรืออ้างกับคนอื่นว่าเป็นของตน หรือพูดง่ายก็คือเอาทรัพย์นั้นไปใช้ตามใจเหมือนตัวเองซื้อมาโดยไม่คิดจะคืนเจ้าของ และจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุจูงใจโดยทุจริต กล่าวคือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องการหาประโยชน์จากสิ่งที่เรามาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง

หากองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นครบก็สามารถจ้างทนายฟ้องยักยอกทรัพย์ได้ แต่หากไม่แน่ใจหรือไม่เข้าใจเรื่องของกฎหมายสามารถหาทนายเพื่อปรึกษาก่อนได้ เมื่อเข้าข่ายการยักยอกทรัพย์ให้รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวกับการยักยอก เช่น เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์ที่ถูกยักยอก เอกสารที่แสดงว่ามีการส่งมอบการครอบครองไปสู่ผู้ที่ทำการยักยอก หลักฐานที่แสดงว่าผู้กระทำนั้นเอาทรัพย์ไปเป็นของตน หรือหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถจะรวบรวมมาได้ถ้าหากผู้เสียหายประสงค์จะฟ้อง โดยสามารถนำเอาหลักฐานที่รวบรวมมาได้นำไปปรึกษาทนายก่อนว่าหลักฐานที่มีอยู่นั้นเพียงพอในการดำเนินการฟ้องร้องยักยอกทรัพย์หรือไม่ 

อายุความในการฟ้องร้องคดียักยอกทรัพย์

แม้ว่าคดียักยอกทรัพย์จะเป็นคดีที่ยอมความกันได้ แต่ผู้เสียหายหรือผู้ที่ถูกยักยอกจะต้องทำการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน หรือฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้เรื่องผู้กระทำ หากไม่แจ้งความหรือแจ้งความในระยะเวลาดังกล่าวคดีก็จะหมดอายุความ และถึงแม้ว่าคดียักยอกทรัพย์จะเป็นคดีความส่วนตัวที่สามารถยอมความกันได้ แต่ทั้งนี้ต้องให้ผู้ฟ้องทำการถอนฟ้องด้วย

คดียักยอกทรัพย์2 copy

คดียักยอกทรัพย์ต้องฟ้องศาลไหน? ใช้หลักประกันตัวเท่าไหร่?

ตรงนี้จะต้องดูว่าได้กระทำความผิดที่ไหน ตามหลักแล้วจะต้องฟ้องต่อศาลที่ความผิดนั้นเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ๆ กระทำความผิด แต่ถ้าหากจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับกุมถูกสอบสวนนอกเขตศาลที่ความผิดเกิดขึ้น สามารถดำเนินการฟ้องในเขตพื้นที่นั้นได้เช่นกัน ส่วนวงเงินในการประกันตัวนั้น หากถูกดำเนินการแจ้งความคดียักยอกทรัพย์วงเงินในการประกันตัวนั้นขึ้นอยู่กับมูลค่าของทรัพย์สินที่ถูกยักยอกไป ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ 1 ใน 3 ของความเสียหายที่ผู้เสียหายแจ้งมา แต่ทั้งนี้เงินประกันในชั้นศาลและชั้นตำรวจไม่เท่ากัน ดังนั้นควรโทรสอบถามเจ้าหน้าที่ศาลที่รับผิดชอบคดีอีกครั้ง จะได้ไม่เกิดปัญหาการประกันตัวไม่ได้

แม้ว่าคดียักยอกทรัพย์จะเป็นคดีที่ยอมความกันได้ถึงอย่างไรก็ควรมีทนายเอาไว้คอยให้คำแนะนำ หรือคอยให้คำปรึกษาไว้จะดีที่สุด สำนักงานกฎหมายวงศกรณ์ เรามีทีมทนายความที่เชี่ยวชาญและมากด้วยประสบการณ์พร้อมให้บริการในทุกปัญหาในด้านของกฎหมาย หากคุณมีปัญหาต้องการคำปรึกษา หรือคำแนะนำ ติดต่อเรา