การเรียกค่าสินไหมทดแทนจากคู่กรณีต้องทำอย่างไร และเรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง

เรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง copy

อุบัติเหตุทางจราจรสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาเราสามารถเรียก ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายได้หากเราเป็นผู้เสียหายจากอุบัตินั้น เพราะประกันภัยจะให้ความคุ้มครองในเรื่องของความบาดเจ็บทางร่างกาย ค่าพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บ รวมถึงความเสียหายในเรื่องของทรัพย์สิน และค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ เหล่านี้เราสามารถเรียกร้องเอาจากประกันของฝ่ายคู่กรณีได้ มาดูกันว่าค่าสินไหมทดแทนคืออะไร และนอกจากเราจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากคู่กรณีแล้ว เรายังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายอะไรจากคู่กรณีอีกได้บ้าง 

เรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง1 copy

ค่าสินไหมทดแทนคืออะไร

ค่าสินไหมทดแทน หมายถึง “เงินที่ต้องชดใช้เพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือแก่บุคคลอันเนื่องมาจากการละเมิด หรือการผิดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินที่ต้องคืนให้แก่ผู้เสียหายด้วย เช่น ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้” และตามหลักของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ระบุไว้ว่า ค่าสินไหมทดแทน คือการชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดโดยการคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายได้เสียหายไปหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น ในเมื่อไม่อาจคืนทรัพย์สินได้รวมทั้งค่าเสียหายอย่างใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหรือใกล้เคียงกับฐานะเดิมเท่าที่จะสามารถทำได้

เรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง2 copy

สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอะไรได้บ้างจากคู่กรณี

1. ค่าเสียหายต่อตัวรถ

เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแน่นอนว่ายานพาหนะต้องเกิดความเสียหายอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนนี้คู่กรณีที่เป็นฝ่ายถูกจะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ ถ้าหากมีประกันก็สามารถตกลงกันง่ายกว่ารถที่ไม่มีประกัน เพราะกรณีรถที่ไม่มีประกันก็ต้องมาคุยกันว่าฝ่ายผิดจะทำการชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร เมื่อเรียกประกันมาเพื่อคุยกันแล้ว ต่อไปก็เป็นขั้นตอนในการนำรถเข้าซ่อม โดยการส่งรถเข้าซ่อมจากความเสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุสามารถทำได้ 2 ช่องทางคือ

– นำรถไปซ่อมกับอู่ที่บริษัทประกันคู่กรณีกำหนด หรืออู่ในเครือบริษัทประกัน

– นำรถไปซ่อมกับอู่ที่ติดต่อเอง แต่จะต้องแจ้งรายละเอียดการซ่อมต่างๆ ให้กับบริษัทประกันคู่กรณีก่อน เพื่อให้บริษัทประเมินราคาเบื้องต้น หรือให้ทางบริษัทเข้ามาดูสภาพความเสียหายของรถด้วยตัวเอง เพื่อพิจารณาค่าซ่อมที่เหมาะสม

2. ค่าลากรถ/ขนย้ายรถไปที่อู่ซ่อมรถ

เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ นอกจากเงื่อนไขที่ประกันต้องชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมแล้ว ยังเป็นหน้าที่ของประกันที่ต้องชดใช้ค่าขนย้าย และค่าดูแลรักษาในระหว่างที่ซ่อมด้วย ตามจำนวนที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 20% ของค่าซ่อมแซม เช่น รถยนต์เกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ พนักงานสอบสวนลากรถไปสถานีตำรวจ เมื่อใช้เป็นหลักฐานทางคดีเสร็จแล้ว ได้ลากรถไปที่อู่เพื่อซ่อมแซม ค่าลากรถทั้งสองช่วงนี้ บริษัทประกันเป็นคนจ่ายหรือรับผิดชอบตามที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกิน 20% ของค่าซ่อม 

กรณีใดบ้างที่ต้องรับผิดชอบเกิน 20%

ลากไปอู่หนึ่งแล้ว ทางประกันคุมราคาค่าซ่อมต่ำกว่าความจริง (เกิดจากประกันเอง) ทำให้ต้องลากไปอีกอู่ ค่าลากไปที่อื่นตรงนี้ประกันก็ต้องรับผิดชอบแม้รวมกับครั้งแรกจะเกิน 20% ของค่าซ่อม  

ข้อควรรู้ 

– ค่าดูแลขนย้ายนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ประกันต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับจำนวนเงินเอาประกันที่ระบุไว้ 

– ค่าซ่อม จะทราบจำนวนค่าซ่อมที่แท้จริง เมื่อซ่อมรถเสร็จ เพราะตอนเกิดเหตุยากที่จะตีราคาค่าซ่อมได้ทันที 

3. ค่าเสียหายต่อชีวิตและร่างกาย

– ค่ารักษาพยาบาล

– เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ

– ทุพพลภาพ

– ค่าปลงศพ (กรณีเสียชีวิต)

– ค่าขาดประโยชน์ในการหารายได้ (กรณีต้องพักรักษาตัวนาน)

– ค่าขาดได้อุปการะ (กรณีเสียชีวิตและเกิดผลกระทบต่อการเลี้ยงดูบุตร)

4. ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน

ในที่นี้หมายถึงทรัพย์สินสิ่งของมีค่าที่อยู่ภายในรถ เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าเงิน โน้ตบุ๊ค หรือสิ่งของมีค่าอื่นๆ ที่อยู่ภายในรถ ซึ่งถ้าเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุบริษัทประกันของคู่กรณีจะต้องจ่ายชดเชยให้ด้วย แต่จะพิจารณาเป็นในส่วนของค่าเสื่อมสภาพแทนไม่ใช่มูลค่าของทรัพย์สินที่เราซื้อมาในตอนแรก และทรัพย์สินนั้นผู้เสียหายจะต้องเป็นเจ้าของตัวจริงเท่านั้น โดยจะได้รับการชดเชยไม่เกินวงเงินที่ระบุเอาไว้ในประกัน

5. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ/ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 เป็นต้นมา คปภ.ได้กำหนดอัตราขั้นต่ำในการชดเชยค่าขาดประโยชน์ (สำหรับรถยนต์ที่มีการทำประกันตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 ดังนี้)

– รถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท

– รถยนต์รับจ้างสาธารณะที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท

– รถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 7 คน (รวมคนขับ) อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท

อย่างไรก็ดี หากกรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วอย่างไรควรหาทนายความผู้เชี่ยวชาญเอาไว้คอยแนะนำขั้นตอนในการเรียกร้องค่าเสียหาย หากอุบัติเหตุนั้นมีความเสียหายไม่ว่าจะร่างกายหรือทรัพย์สิน เพราะการมีทนายความช่วยเดินเรื่องให้ช่วยให้เรารู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทประกันภัยได้เพื่อรักษาสิทธิ์ที่พึงมีของเรา สำนักงานกฎหมายวงศกรณ์ เป็นสำนักงานทนายความที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของคดีประกันภัย หากท่านใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายในเรื่องของประกันภัย หรือข้อกฎหมายในเรื่องอื่นๆ ติดต่อเรา สำนักงานกฎหมายวงศกรณ์พร้อมให้บริการในทุกปัญหากฎหมายของคุณ