พ.ร.บ. จ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างไร หากประสบภัยจากรถจนนิ้วขาด

Cover พ.ร.บ. ค่าสินไหมนิ้วขาด

อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นคนที่ประมาทแต่ก็อาจมีบุคคลอื่นที่ไม่ระวังขับขี่มาชนเราได้ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วบางครั้งบริษัทประกันตัวดีมักหาเหตุผลบ่ายเบี่ยงในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย โดยการยกเหตุผลต่างๆ นานาขึ้นมาอ้างเพื่อปัดการจ่ายค่าเสียหายนั้น หรือเพื่อให้จ่ายน้อยลง ซึ่งความจริงแล้ว พ.ร.บ. นั้นคุ้มครองการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ และการสูญเสียอวัยวะ หรือที่เรียกว่า “ทุพพลภาพ” รวมถึงกรณีการเสียชีวิต แต่วันนี้จะขอมาพูดถึงกรณี “ทุพพลภาพ” ว่ามีลักษณะอย่างไร

โดยทุพพลภาพ คือการสูญเสียอวัยะ หรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะ หรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลง จนถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานได้เหมือนปกติได้ ในทางประกันภัยมีด้วยกัน 4 รูปแบบดังนี้

1. ทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิง

เป็นอาการทุพพลภาพที่หนักที่สุด คือต้องเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยอย่างหนัก จนสูญเสียอวัยวะ หรือร่างกายไม่อยู่ในสภาวะที่จะประกอบอาชีพเดิม รวมถึงประกอบอาชีพอื่นได้ตลอดไป เช่น เกิดอุบัติเหตุรถชนจนสูญเสียมือเท้าทั้งสองข้าง, สูญเสียการมองเห็นอย่างสิ้นเชิง, เป็นอัมพาตต้องนอนติดเตียงไปตลอด สมองได้รับความกระทบกระเทือนไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอีกต่อไป

2. ทุพพลภาพอย่างถาวรบางส่วน

เป็นการทุพพลภาพที่ร่างกายไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตลอดไป แต่ยังสามารถประกอบอาชีพอื่นได้ เช่น การสูญเสียแขนหนึ่งข้างจนไม่สามารถประกอบอาชีพขับรถได้เหมือนเดิม แต่สามารถใช้อวัยวะอื่นทำอาชีพอื่นทดแทนได้

3. ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง

คืออาการทุพพลภาพจนสามารถประกอบอาชีพเดิมหรืออาชีพอื่นได้อย่างสิ้นเชิงในระยะเวลาชั่วคราว เมื่อได้รับการรักษาจนสามารถกลับไปประกอบอาชีพได้ เช่น การได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้าเฝือกทั้งตัวจนไม่สามารถลุกออกจากเตียงได้เป็นระยะเวลา 3 เดือนเป็นต้น

4. ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน

คือการทุพพลภาพจนเป็นอุปสรรคกระทบต่อการทำงานประจำ แต่เมื่อทำการรักษาแล้วสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ เช่น อุบัติเหตุรถล้มขาหักจนต้องเข้าเฝือก ไม่สามารถไปทำงานตามปกติได้ แต่ยังสามารถหารายได้อยู่ที่บ้านได้เป็นต้น

Cover พ.ร.บ. ค่าสินไหมนิ้วขาด 2

กรณีนิ้วขาดจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเท่าไหร่

กรณีที่ประสบอุบัติเหตุทางจราจรแล้วเป็นฝ่ายถูก หากนิ้วขาดเกิน 1 ข้อขึ้นไปไม่ว่าจะนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว บริษัทที่รับประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท/คน แต่หากสูญเสียนิ้วไม่เกิน 1 ข้อสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 80,000 บาท โดยต้องเตรียมเอกสาร คือ 1.ใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าได้ถูกตัดนิ้ว 2.ฟิล์มเอ็กซเรย์ 3.บัตรประชาชน

Cover พ.ร.บ. ค่าสินไหมนิ้วขาด 3

คำว่าทุพพลภาพอยู่ในประกันประเภทไหนบ้าง?

1. ประกันอุบัติเหตุ มักปรากฎคำว่าทุพพลภาพในรูปแบบแผนประกันภัยนั่นคือ

  • ประกันอุบัติเหตุแบบ อ.บ.1 ที่จะให้คุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง, ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง, และทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน
  • ประกันอุบัติเหตุแบบ อ.บ.2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจาก อบ. 1 ในส่วนของการทุพพลภาพถาวรบางส่วน อย่างการสูญเสียนิ้ว การสูญเสียการรับฟัง เป็นต้น

2. พ.ร.บ. รถยนต์/พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ จะปรากฎเงื่อนไขทุพพลภาพในรูปแบบของเงินชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ได้แก่

  • เงินชดเชยเบื้องต้น(ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด) เมื่อทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิง เป็นจำนวนเงิน 35,000 บาท
  • เงินชดเชยส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น เมื่อทุพพลภาพอย่างถาวรสิ้นเชิง เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท
  • เงินชดเชยส่วนเกินค่าเสียหายเบื้องต้น เมื่อทุพพลภาพถาวรบางส่วน  เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท

3. ประกันการเดินทาง จะปรากฏคำว่าทุพพลภาพอยู่ในเงื่อนไขของเงินชดเชย เมื่อผู้ทำประกันได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขณะเดินทาง โดยส่วนมากประกันเดินทางมักจะคุ้มครองกรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงตามวงเงินที่ระบุไว้ ซึ่งผู้ทำประกันต้องอ่านรายละเอียดให้ดีก่อนทำประกัน

4. ประกันทุพพลภาพ บางบริษัทฯ ได้ออกแผนประกันทุพพลภาพมาโดยเฉพาะ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพจากสาเหตุต่าง ๆ 

เห็นไหมคะว่า พ.ร.บ ประกันภัยรถนั้น นอกจากจะคุ้มครองต่อการบาดเจ็บแล้วยังคุ้มครองกรณีที่ต้องสูญเสียอวัยวะด้วย ซึ่งเราควรจะต้องศึกษาและทราบข้อมูลเหล่านี้เอาไว้เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองไม่ให้ถูกบริษัทประกันภัยเอาเปรียบ หรือหากเกิดประสบอุบัติเหตุแนะนำให้มีทนายความเอาไว้ดีกว่า เพราะทนายความผู้เชี่ยวชาญจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายให้เราได้มากกว่าที่เราจะต้องไปดำเนินการด้วยตัวเอง ปรึกษาทนาย