การดำเนินการในกระบวนการทางกฎหมายนั้นนอกจากศาลแล้วยังมีกระบวน การอนุญาโตตุลาการ ที่เป็นการระงับข้อพิพาทกันนอกศาลโดยคณะอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดที่คู่กรณีสามารถเลือกคณะผู้ชี้ขาดได้ ซึ่งกระบวนการอนุญาโตตุลการนี้นิยมใช้กันในแวดวงของนักธุรกิจเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกันที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ก่อนอื่นเรามาเริ่มทำความรู้จักกันค่ะว่า อนุญาโตตุลาการ คืออะไร
อนุญาโตตุลาการคืออะไร ต่างจากศาลอย่างไร
อนุญาโตตุลาการ (arbitration) เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยคู่กรณีตกลงกันไว้ด้วยการทำเป็นสัญญาเรียกว่า “สัญญาอนุญาโตตุลาการ” (arbitration agreement) มีใจความเป็นการเสนอข้อพิพาทของตนที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ไม่ว่าจะมีการกำหนดตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการไว้ในคราวนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยการมอบอำนาจให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว ส่วนการมอบอำนาจเช่นว่าอาจกระทำกันโดยตกลงกันในสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเลยหรือในสัญญาอื่น ๆ ต่างหาก เช่น สัญญาที่คู่สัญญานั้นตกลงทำขึ้นเพื่อกิจการระหว่างกัน และจะถือว่าข้อสัญญาต่างหากนี้นับเข้าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการเช่นกัน
หากกล่าวแบบเข้าใจโดยง่าย “การอนุญาโตตุลาการ” เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยไม่ต้องไปสู่กระบวนการฟ้องร้องกันในชั้นศาล โดยหน่วยงานอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาล แต่จะใช้คณะอนุญาโตตุลาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่มีข้อพิพาทกันอยู่ให้เป็นผู้ดำเนินการชี้ขาดในข้อพิพาทนั้นแทน โดยไม่ต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดแทน และคู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งกระบวนการอนุญาโตตุลาการมักใช้ในแวดวงพ่อค้าหรือนักธุรกิจ เป็นต้น เพื่อเอาไว้ระงับข้อพิพาทระหว่างพ่อค้าด้วยกัน ทั้งการค้าในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
การอนุญาโตตุลาการต่างจากศาลตรงที่ขั้นตอนของกระบวนการรวดเร็วและจบเร็วกว่ากระบวนการศาลที่จะต้องมีกระบวนการศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกาซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะจบคดี แต่การอนุญาโตตุลาการนั้นเมื่อมีคำตัดสินชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการนั่นถือว่าเป็นอันจบข้อพิพาทนั้นๆ จะไม่มีการยื่นฟ้องกันต่อในศาลอีก นอกจากนี้ การอนุญาโตตุลาการนั้นจะมีค่าธรรมเนียมแพงกว่าศาลขึ้นอยู่กับเรื่องที่มีการพิพาทกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ดำเนินการจะสะดวกเลือกกระบวนการแบบไหน
คณะอนุญาโตตุลาการมาจากไหน
คณะอนุญาโตเป็นคณะที่คู่กรณีแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างคู่กรณี ซึ่งบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ โดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเกี่ยวข้องกับคู่กรณี โดยคัดเลือกมาจากบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่มีการพิพาทกันอยู่ ซึ่งที่มาของอนุญาโตตุลาการมีดังนี้
1. คู่กรณีต้องกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้คือ ให้คณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วย อนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีแต่งตั้งฝ่ายละเท่ากันเป็นจำนวนเลขคี่
2. ถ้าคู่กรณีกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการเป็นจำนวน เลขคู่ ให้อนุญาโตตุลาการร่วมกันตั้งอนุญาโตตุลาการเพิ่มอีกคนหนึ่งเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ
3. ถ้าคู่กรณีไม่สามารถตกลงกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการได้ ให้มีอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว
4. ถ้าคู่กรณีไม่อาจร่วมกันตั้งคนกลางเป็นอนุญาโตตุลาการอีกคนหนึ่งได้ คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนกลาง
คณะอนุญาโตตุลาการมีกี่ประเภท
1. การอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจ (Ad Hoc Arbitration)
– เกิดขึ้นในกรณีที่คู่พิพาทเลือกที่จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการกันเอง
– ไม่ใช้บริการของสถาบันใด
– ตกลงจัดทำระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการกันเองด้วย
– อาจประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการบริการโดยสถาบัน แต่คู่พิพาทต้องมีความรอบรู้ ด้านกระบวนการอนุญาโตตุลาการอย่างดี
2. การอนุญาโตตุลาการโดยสถาบัน (Institutional Arbitration)
– เกิดขึ้นในกรณีที่การดำเนินการและบริหารจัดการกระบวนการอนุญาโตตุลาการทำโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ
– โดยคู่สัญญาอาจมีการตกลงระบุสถาบันที่จะดำเนินการและบริหารจัดการกระบวนการอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ
– แต่ละสถาบันมีข้อบังคับและระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่แตกต่างกันออกไป
สัญญาอนุญาโตตุลาการคืออะไร
สัญญาอนุญาโตตุลาการ คือสัญญาที่คู่กรณีที่พิพาทกันได้ทำสัญญาหรือข้อตกลงกันไว้ ว่าจะให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทนั้น โดยสัญญาอนุญาโตตุลาการมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. คู่สัญญาอาจกำหนดข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก หรือคู่สัญญาอาจตกลงทำสัญญาอนุญาโตตุลาการแยกออกมาเป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากจากสัญญาหลักก็ได้
2. คู่กรณีอาจตกลงทำสัญญาอนุญาโตตุลาการกันไว้ก่อนที่จะมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือตกลงทำสัญญาอนุญาโตตุลาการกันภายหลังจากที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นได้
3. สัญญาอนุญาโตตุลาการต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญา หรือคู่สัญญาอาจจะตกลงกันไว้ในแบบอื่น เช่น การโต้ตอบกันทางจดหมาย แฟ็กซ์ เป็นต้น
คู่สัญญาที่จะทำสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นใครได้บ้าง
คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นจะต้องมีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ และต้องมีความสามารถในการทำสัญญาตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับสถานะของคู่สัญญานั้นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเป็นหน่วยงานของทางราชการกับเอกชนก็ได้ หรือคู่สัญญาจะเป็นเอกชนทั้งสองฝ่ายก็ได้ ภายหลังจากที่คู่สัญญาได้ทำสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้ว หากต่อมาคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นก็ไม่เสียไป ยังคงมีผลใช้บังคับได้อยู่
ข้อพิพาทที่คู่กรณีจะทำสัญญาอนุญาโตตุลาการเกิดจากกรณีใดบ้าง
1. ข้อพิพาทเกิดจากการที่คู่กรณีทำสัญญากัน เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาว่าจ้างก่อสร้างสัญญาเช่า เป็นต้น และคู่กรณีเกิดมีข้อขัดแย้งระหว่างกันเกี่ยวกับการปฏิบัติ ให้เป็นไปตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า “สัญญาหลัก” หรือ
2. ข้อพิพาทเกิดจากการกระทำผิดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การ กระทำโดยละเมิดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
ข้อดีของการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ
– ความรวดเร็ว เนื่องจากการฟ้องคดีต่อศาลนั้นมีขั้นตอนมากและคู่ความยังสามารถอุทธรณ์ ฎีกาต่อไปได้ทำให้เสียเวลามาก แต่กระบวนการอนุญาโตตุลาการจะสิ้นสุดรวดเร็วและไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก
– อนุญาโตตุลาการมีความสามารถ-เชี่ยวชาญในประเด็นข้อพิพาท เนื่องจากโดยปกติผู้ที่เป็นอนุญาโตตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีเลือกมักจะเป็นผู้ที่มีความรู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทเป็นอย่างดี ทำให้เข้าใจเรื่องที่พิพาทและพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ช่วยให้การชี้ขาดข้อพิพาททำได้รวดเร็วและยุติธรรม ต่างกับการดำเนินคดีในศาลที่คู่พิพาทไม่อาจคัดเลือก “ผู้ตัดสิน” (ผู้พิพากษา) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้พิพากษาศาลจะตัดสินตามข้อกฎหมายหรือตามแนวฎีกาที่เคยมีเป็นหลัก บางเรื่องผู้พิพากษาศาลจึงอาจไม่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นข้อพิพาทอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง
– การรักษาชื่อเสียงและความลับ วิธีอนุญาโตตุลาการกระทำเป็นความลับเฉพาะคู่กรณีและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าร่วมการพิจารณา บุคคลภายนอกไม่มีโอกาสรู้ข้อเท็จจริงโดยตรง จึงไม่รู้ว่าคู่กรณีมีข้อพิพาทกันหรือไม่ จึงสามารถช่วยรักษาชื่อเสียงของคู่พิพาทและความลับทางธุรกิจของคู่กรณีได้อย่างตอบโจทย์ ต่างจากหลักการพิจารณาคดีของศาลที่ต้องทำโดยเปิดเผย
จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางกฎหมายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน มีระบบและกระบวนการในการทำงานต่างกัน หากผู้ที่ไม่รู้เรื่องข้อกฎหมายแล้วตัดสินใจเลือกที่จะไปดำเนินการทางกฎหมายเองถือว่าเป็นเรื่องยากและเสี่ยงต่อการดำเนินขึ้นตอนหรือเลือกวิธีการที่ผิดพลาด กว่าจะมาหาทนายให้แก้ไขก็สายเกินไปเสียแล้ว ดังนั้นการเลือกใช้บริการทนายความในการเดินเรื่องทางกฎหมายเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะทนายความคือผู้ที่เชี่ยวชาญและเข้าใจการดำเนินขั้นตอนในทางกฎหมายเป็นอย่างดี ปรึกษาทนาย ดีที่สุดค่ะ